ปัจจุบันด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ความสำเร็จของบุคคลที่กล้าแสดงออก เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น ทำให้รูปแบบการเลี้ยงดูสั่งสอนที่เน้นบังคับให้เชื่อฟังนั้น อาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมอีกต่อไป เพราะในยุคสมัยนี้ อย่างไรเสียคนที่จะประสบความความสำเร็จในชีวิตได้นั้น จำเป็นต้องมีความกล้าแสดงออกอยู่เป็นปัจจัยหนึ่งด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เองจึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เด็กไทยมีความกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม เพื่อให้เขาพร้อมเผชิญโลกที่ท้าทายนี้ต่อไปได้ในอนาคต และนี่คือ 6 แนวทางที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้เด็กมีความกล้าแสดงออกในห้องเรียนครับ
1. สร้างแบบอย่างที่ดี
ตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมของ อัลเบิร์ต แบนดูรา นักจิตวิทยาชาวแคนาดา ที่เชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นเกิดจากการสังเกตผ่านตัวแบบ ซึ่งถ้าเป็นไปตามทฤษฎี คุณครูควรสร้างรูปแบบห้องเรียนให้เด็กๆ มีโอกาสแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น เปิดโอกาสให้เขาได้มีช่วงเวลาเล่าถึงประสบการณ์ต่างๆที่เขาพบเจอ หรือให้นำเสนองานต่างๆในรูปแบบที่เขาคิดขึ้นมาเอง วิธีการนี้จะทำให้เด็กที่มีความกล้าแสดงออกอยู่แล้วได้มีพื้นที่ในการแสดงออก และยังกลายเป็นแบบอย่างให้กับเด็กคนอื่นๆอยากลุกขึ้นมามีบทบาทด้วยเช่นกัน
2. ไม่เร่งไม่บังคับ
บ่อยครั้งทีครูอย่างเรามักจะให้เด็กออกมานำเสนอหรืออภิปรายหน้าชั้นเรียนในเรื่องต่างๆ โดยการเรียกตามโต๊ะ เลขที่ ชื่อหรือสุ่มอย่างไรก็แล้วแต่ ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่วิธีที่ดีนักในการส่งเสริมให้เด็กมีความกล้าแสดงออก เพราะไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะพร้อมสำหรับการสุ่ม การให้เขาออกไปทั้งๆที่ยังไม่พร้อมก็ไม่ต่างอะไรกับการให้เขาไปเป็นตัวตลก ดังนั้นให้เวลากับเขาในการเตรียมตัว ห้องเรียนเรามีทั้งคนที่กล้าและไม่กล้าแสดงออก ให้เด็กที่กล้าแสดงออกได้มีโอกาสนำเสนอก่อนและค่อยวนกลับมาที่เด็กที่เราต้องการส่งเสริม น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า
3. คำนึงถึงความชอบความสนใจ
ความกล้าแสดงออกนั้น เป็นผลพวงจากสิ่งที่เรียกว่า ความเชื่อมั่นในตนเอง (Self Confidence) ซึ่งความเชื่อมั่นในตัวเองนี้เป็นพลังอย่างหนึ่งที่ที่ช่วยให้เรากล้าตัดสินใจและทำกิจกรรมต่างๆ ไม่มีใครสามารถนำเสนอเรื่องที่ตัวเองไม่รู้หรือไม่สัดทัดได้โดยไม่ประหม่า การที่เราจะให้เด็กคนหนึ่งออกไปพูดกับเพื่อนหน้าชั้นเรียนในเรื่องบางเรื่องที่เขาไม่เคยสัมผัสนั้น แทนที่จะเป็นการฝึกให้เขามีความกล้า แต่กลับกลายเป็นการบั่นทอนความกล้าและความมั่นใจของเขาต่างหาก ดังนั้นในฐานะครู ก่อนที่จะให้เขาออกไปเผชิญความกล้า ก็ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่คุณจะให้เขากล้าออกไปนำเสนอนั้น เป็นสิ่งที่เขารู้ ชื่นชอบและถนัด
4. ดูและรับฟังอย่างตั้งใจ
เมื่อเด็กคนหนึ่งกล้าที่จะออกไปทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง สิ่งที่ช่วยให้เขาอุ่นใจมากขึ้น คือ การที่มีคนสนใจในสิ่งที่เขากำลังทำ คุณครูควรหมั่นสบตาและพยักหน้ารับกับสิ่งที่เขากำลังนำเสนอ รวมถึงสอบถามในเรื่องที่เกี่ยวข้องบ้างประปราย เพื่อให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขากำลังสื่อสารนั้นมีคนสนใจอยู่นั่นเอง
5. ให้กำลังใจ
การให้กำลังใจถือเป็นการเสริมแรงที่ถูกนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้มาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งถ้าเราต้องการให้เด็กมีพฤติกรรมกล้าแสดงออก เราก็ควรให้ความสำคัญกับการแสดงออกที่เหมาะสมของเขา โดยการชมเชยในสิ่งที่เขาได้กระทำ อาจไม่จำเป็นว่าจะต้องชมเชยด้วยคำสรรเสริญเยินยอมากมายเสมอไป การที่เรารับฟังเขาแล้วบอกเขาว่าสิ่งที่เขานำเสนอออกมานั้นน่าชื่นชมและน่าสนใจ แค่นี้ก็เป็นการให้กำลังใจเด็กที่ยอดเยี่ยมแล้ว
6. ให้โอกาสบ่อยๆ
หลังจากที่เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เด็กคนหนึ่ง มีความกล้าในตัวเองขึ้นมาได้แล้ว การจะรักษาพฤติกรรมนี้ไว้ก็คือ การสร้างกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้แสดงออกบ่อยๆ เช่น การให้ออกมาร้องเพลง การอภิปรายหน้าชั้นเรียน หรือการแสดงละคร ซึ่งกิจกรรมต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้พฤติกรรมการกล้าแสดงออกของเด็กมีความคงทนมากขึ้น ช่วยลดอาการประหม่า และเพิ่มพูนความมั่นใจ ซึ่งทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
Leave a Comment: