การเรียนภายในห้องกับยุคดิจิทัล

thumb-img

ที่ผ่านมาระบบการศึกษามุ่งเน้นการสอนทฤษฎีตามตำรา เพื่อผลิตบัณฑิตเข้าสู่ระบบการทำงาน แต่ในโลกยุคดิจิทัลบทเรียนในตำราแทบเป็นเรื่องล้าหลัง เมื่อเทียบกับข้อมูลข่าวสารที่หาได้อย่างง่ายดายผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ในขณะเดียวกันความง่ายดายที่เกิดขึ้นกลับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้  ‘เรา’ ใช้สมองได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

เมื่อการเรียนในห้องเรียนไม่ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย แล้วทำอย่างไรให้การเรียนรู้ในห้องเรียนเป็นมากกว่าการท่องจำเพื่อคะแนนสอบ ที่สำคัญ เป็นการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาสมองของผู้เรียนควบคู่กันไปด้วย

ครู และระบบการเรียนการสอนในสถานศึกษาเป็นกุญแจสำคัญ

การเรียนการสอนที่ไม่ใช่แค่การท่องจำในตำรา แต่ผนวกเอาการเรียนรู้เชิงอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยให้สมองเปิดรับการเรียนรู้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงหรือสร้างความตื่นเต้น การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ต้องทำภายใต้เวลาจำกัดหรือให้ความสนุกสนาน หรือแม้แต่เรื่องราวที่สร้างความสะเทือนใจก็ยังสามารถสร้างการเรียนรู้ที่น่าจดจำสำหรับสมองได้

ทั้งนี้ หากอารมณ์ที่สร้างขึ้นเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้ อารมณ์จะช่วยกระตุ้นให้มีการหลั่งสารเคมีในสมองทำให้สมองเปิดรับการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าอารมณ์มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสิ่งที่มนุษย์ทำในชีวิตประจำวัน เรามีแรงขับที่จะทำในสิ่งที่อยากทำ (passion) หรือแม้แต่กรณีที่เราทำความสะอาดที่อยู่อาศัยเพราะทนกับความสกปรกรกรุงรังไม่ได้ พฤติกรรมเหล่านี้มีส่วนเชื่อมโยงกับอารมณ์ก่อนทั้งสิ้น

เพราะอารมณ์จะช่วยเรียกความทรงจำที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียนรู้ขึ้นมาได้เป็นอย่างดี ยิ่งอารมณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมีความเข้มข้นมากเท่าไร สิ่งที่เรียนรู้ก็จะมีความชัดเจนและสร้างความเข้าใจแก่ตัวผู้เรียนมากขึ้นเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ คำตอบที่ถูกต้องที่สุดจึงไม่สำคัญเท่าโอกาสที่นักเรียนได้ร่วมคิดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้อย่างเต็มที่ แบบฝึกหัดเติมคำในช่องว่างจึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าโครงงานหรือกิจกรรมที่ออกแบบขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้ร่วมคิดและค้นหาวิธีแก้ปัญหาด้วยกัน เพราะนั่นเป็นทางตรงที่จะช่วยสร้างการเรียนรู้และสร้างการพัฒนาสมองได้อย่างถาวร

Leave a Comment:

Subscribe to our Newsletter